- +66 53 343 539
- aippmail@aippnet.org
- Mon - Fri: 9:00 - 17:00

ในหมู่บ้านชนเผ่าพื้นเมืองชาวปกาเกอะญอบ้านห้วยอีค่าง ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาทางตอนเหนือของประเทศไทย ทุกชีวิตเริ่มต้นในป่า เมื่อทารกคลอดออกมา สายสะดือของพวกเขาจะถูกใส่ไว้ในกระบอกไม้ไผ่และผูกไว้บนต้นไม้ผลที่มีความแข็งแรง

พื้นที่ป่าที่มีต้นไม้ถูกผูกติดด้วยกระบอกไม้ไผ่ที่บรรจุสายสะดือทารกแรกเกิดนั้น รู้จักกันในชื่อ ‘ป่าเดปอ (ป่าสะดือ)
บ้านห้วยอีค่าง มีพื้นที่ป่าสะดือจำนวน 400 ไร่ (64เฮกตาร์) ซึ่งเป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับเยาวชนและบุคคลภายนอก
“ด้วยวิธีนี้ ขวัญของทารกและต้นไม้จะผูกพันกันตลอดอายุขัยและไม่มีใครได้รับอนุญาตให้ตัดต้นไม้ต้นนั้น” หน่อแอริ ทุ่งเมืองทอง ผู้ใหญ่บ้านอธิบาย

หน่อแอริ วัย 47 ปี เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้เข้ามาเป็นผู้ใหญ่บ้านและเป็นผู้นำหญิงคนเดียวในอำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ เธอเป็นชนเผ่าพื้นเมืองชาวปกาเกอะญอ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเมียนมาร์และประเทศไทย


“ป่าคือซูเปอร์มาร์เก็ตของชุมชนเรา”
“เราใช้ความเชื่อ วัฒนธรรม และระบบความรู้เพื่อจัดการทรัพยากรของเราอย่างยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่น ผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในชุมชนของเรา เนื่องจากเรารู้ว่าจะหาอาหารและยาได้จากที่ไหน – รวมถึงวิธีการเก็บและอนุรักษ์ สิ่งเหล่านี้ ถ้าไม่มีผู้หญิงอย่างพวกเรา เราก็จะไม่สามารถรักษาป่าไว้ได้” นรรีย์ ผู้ซึ่งถือว่าป่าเป็น “ซูเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน” กล่าว

ในปี พ.ศ. 2559 หน่อแอริได้ริเริ่ม เก่อเนอ หมื่อ หรือ ป่าของสตรี เพื่อสร้างพื้นที่สำหรับการถ่ายทอดความรู้ของชนเผ่าพื้นเมือง การผลิตอาหาร และการสร้างรายได้เสริม “ห้องเรียนป่าธรรมชาติ” ของหมู่บ้านครอบคลุมพื้นที่ 9.6 เฮกตาร์ ซึ่งมีต้นไม้และพันธุ์พืชพื้นเมืองหลากหลายชนิดที่ใช้สำหรับยาสมุนไพร การย้อมผ้า และการผลิตอาหาร ณ ที่นี้ คนในชุมชนโดยเฉพาะสำหรับเยาวชนหญิงสามารถได้รับความรู้และทักษะในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติซึ่งผู้หญิงถือครองตามประเพณี
ในหมู่บ้านของคนปกาเกอะญอ และชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองในหลายๆที่นั้น ผู้หญิงมีองค์ความรู้และทักษะในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
หกสิบเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ชุมชนในบ้านห้วยอีค่างถือเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ในขณะที่อีกสี่สิบเปอร์เซ็นต์ที่เหลือจะประกอบไปด้วยพื้นที่อยู่อาศัย ตลอดจนเขตที่กำหนดสำหรับการปลูกพืช,การทำไร่หมุนเวียน, ป่าใช้สอยและการเก็บเกี่ยวผลิตภัณฑ์จากป่าที่ไม่ใช่ไม้ (NTFPs)

หน่อแอริมองการณ์ไกลด้วยความมั่นใจ: “ในระยะยาว ป่าของสตรีชนเผ่าพื้นเมืองจะเป็นแหล่งรายได้หลักของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้ที่จะได้จากผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ไผ่และผ้าทอของเรา” พืชและเมล็ดพืชจากป่ายังนำไปใช้ในงานฝีมือการย้อมผ้าแบบดั้งเดิม – ซึ่งเป็นความรู้ที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น
“สรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนมีจิตวิญญาณเหมือนมนุษย์”
สำหรับหน่อแอริและสตรีคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน ป่าเป็นมากกว่าแหล่งความรู้ อาหารและรายได้ “มนุษย์เราเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้ เราจึงมีความเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้งกับป่าในระดับจิตวิญญาณ”
ตามความเชื่อของคนปกาเกอะญอนั้น ทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติ อาทิเช่น น้ำ,ป่า และไฟ ล้วนมีจิตวิญญาณ ดังนั้นก่อนที่จะมีการทำกิจกรรมใดๆทางการเกษตร จะต้องมีการขออนุญาติก่อนทุกครั้ง





ชาวบ้านห้วยอีค่างและหมู่บ้านใกล้เคียง ได้มาร่วมพิธีกรรมแบบดั้งเดิม เพื่อบอกกล่าวแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ ก่อนที่จะมีการทำการปล่อยปลาในสายน้ำแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่

ศรีจันทร์ ศรีเอื้องดอย นักบัญชีกลุ่มจัดการทรัพยากรธรรมชาติของหมู่บ้านและเป็นพี่เลี้ยงของกลุ่มเยาวชน เห็นด้วยว่า “เมื่อตอนยังเป็นเด็ก ฉันมองเห็นป่าเป็นแหล่งอากาศบริสุทธิ์ เต็มไปด้วยสัตว์และอาหารที่น่าสนใจ เมื่อโตขึ้น ฉันมีโอกาสเรียนรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับระบบนิเวศน์ของป่าและวิถีการทำไร่หมุนเวียน ตอนนี้เมื่อฉันอายุมากขึ้น ฉันมักจะไปป่าเพื่อหาความสงบ ฉันรู้สึกว่ามีบางสิ่งที่ทรงพลังและศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่นั่น บางสิ่งที่คำพูดไม่อาจสามารถอธิบายได้”


สายสุดา ศรีเอื้องดอย อายุ 62 ปี เป็นผู้รู้ของหมู่บ้าน มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นและยาสมุนไพร สำหรับเธอ ต้นไม้มีวิญญาณเหมือนมนุษย์ “ป่าคือทุกอย่างสำหรับเรา เหนือกว่าความสุข อาหาร และสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ถ้าไม่มีป่า ก็ไม่มีน้ำ ถ้าไม่มีน้ำก็ไม่มีการทำนา ถ้าไม่มีการทำนา ก็ไม่มีชีวิต”
สายสุดาปรารถนาที่จะเห็นทั้งหญิงและชายได้รับการเคารพที่เท่าเทียมและแบ่งปันบทบาทและความรับผิดชอบร่วมกันในหมู่บ้าน “จนถึงขณะนี้ ผู้ชายได้พึ่งพาเราในการทำงานส่วนใหญ่ในแต่ละวัน ฉันต้องการให้ชุมชนของเราเติบโตเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากขึ้น โดยที่ผู้ชายและผู้หญิงทุกเพศทุกวัยมารวมตัวกันและทำงานร่วมกัน ด้วยวิธีนี้ เราสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้อื่นได้”

ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงความคิด
ทว่าแม้ในชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองที่ถือการสืบเชื้อสายทางฝ่ายหญิง เช่น ชาวปกาเกอะญอ แต่ผู้ชายมักจะได้รับบทบาทเป็นผู้นำและตัวแทนของชุมชน และถูกคาดหวังให้เป็นแหล่งรายได้หลักของครอบครัว “ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนความคิดนี้” หน่อแอริกล่าว “ในวัฒนธรรมของเรา ถ้าผู้นำเป็นผู้หญิง ก็มักถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ผู้หญิงไม่สามารถเป็นผู้นำได้ หากผู้หญิงกลายเป็นผู้นำ เขาเชื่อว่าสิ่งเลวร้ายจะเกิดขึ้น ฝนตกจะไม่ตก หรือการเก็บเกี่ยวจะออกมาไม่ดี”

ตั้งแต่ปี 2562 หน่อแอริได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าชาวบ้านคิดผิด: “เหล่าผู้ชายยังคงสงสัยในความสามารถของฉัน แต่ฉันรู้สึกได้ว่าตอนนี้มันเริ่มดีขึ้น พวกเขาเรียนรู้ที่จะเคารพฉัน ถึงยังไง ฉันก็ได้รับคัดเลือกจากคนในชุมชน ฉันปฏิเสธที่จะรับบทบาทในงานบริการและการเอาอกเอาใจซึ่งปกติผู้หญิงมักจะได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่นี้ในวัฒนธรรมของเรา ฉันต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองคนอื่นๆ และแสดงให้พวกเขาเห็นว่าเรามีพลัง!”

การฟื้นคืนของพิธีกรรมเก่า
นอกจากนี้บรรพบุรุษของเราได้กำหนดกฎเกณฑ์สำหรับการล่าสัตว์และเก็บเกี่ยวผลิตภัณฑ์จากป่าที่ไม่ใช่ไม้ (NTFPs) ในห้วยอีค่าง “เราบอกสามีและสมาชิกในชุมชนที่เป็นผู้ชายว่าอย่าเก็บของจากป่าหรือล่าสัตว์ในช่วงเวลาผสมพันธุ์ สัตว์ที่ตั้งครรภ์นั้นไม่สามารถล่าได้ และเราต้องให้เวลาที่เพียงพอสำหรับสัตว์และพืชที่จะพักผ่อนและฟื้นฟู” หน่อแอริกล่าว
เหล่าผู้หญิงยังทำให้แน่ใจว่าการปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณีของบรรพบุรุษนั้นเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของหมู่บ้าน นอกเหนือจากการอนุรักษ์ป่าแล้ว พวกเขายังได้ฟื้นฟูแนวทางการจัดการน้ำตามแบบอย่างของบรรพบุรุษ โดยใช้ระบบฐานความเชื่อของชนเผ่าพื้นเมือง

“ประมาณ 10 ปีที่แล้ว คนนอกหมู่บ้านมาที่แม่น้ำของเราและใช้ไฟฟ้าช๊อตปลาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเกือบจะทำลายสัตว์น้ำทั้งหมด” หน่อแอริเล่า นับแต่นั้นมา ชุมชนได้พยายามหลายครั้งในการกำหนดเขตรักษาพันธุ์ปลาในระยะประมาณ 3 กิโลเมตรตามลำน้ำแม่วาง และพัฒนากฎระเบียบเพื่อคุ้มครองชีวิตใต้น้ำ “นอกจากนี้ เราปฏิบัติตามพิธีกรรมสืบชะตาน้ำของชาวปกาเกอะญอ หรือ ซึ ที อานี เพื่อแสดงความกตัญญูและขอขมาลาโทษต่อจิตวิญญาณแห่งแม่น้ำตลอดจนขอพรต่างๆ




ซึ ที อานี เป็นพิธีกรรมแสดงถึงการขอบคุณ การขอขมา และขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิที่ปกปักรักษาสายน้ำ
สืบสานวัฒนธรรมให้ดำรงต่อไป
เมื่อถูกถามถึงสิ่งที่เธอใฝ่ฝัน หน่อแอริหยุดและยิ้ม: “ฉันได้เติมเต็มความฝันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของฉันแล้ว โดยการรับใช้หมู่บ้านของฉัน เราได้พยายามอย่างเต็มที่เพื่อรักษาวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของเรา สิ่งเดียวที่ขาดหายไปคือการยอมรับจากรัฐบาลของเรา ที่จะปกป้องวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองของเรา และเพื่อกำหนดอนาคตของเราเอง ทั้งหมดที่เราต้องการคือการใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีและรู้สึกมั่นคง” แม้ว่าประเทศไทยจะรับรองปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง แต่ก็ยังไม่ยอมรับอย่างเป็นทางการถึงการดำรงอยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศ

หน่อแอริและสตรีคนอื่นๆ กลัวว่าวิถีชีวิตและการปฏิบัติของบรรพบุรุษของพวกเขาอาจสูญหายไป เนื่องจากคนหนุ่มสาวจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ย้ายไปอาศัยอยู่ในเมืองซึ่งทำให้ออกห่างจากอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของพวกเขา “ลูกๆ ของเรากำลังเรียนและทำงานอยู่ในเมือง เพียงเพื่อกลายไปเป็นทาสของผู้อื่น” เธอกล่าวอย่างเสียใจ “ความปรารถนาเดียวของฉันคือการเห็นเยาวชนของเรากลับมาที่หมู่บ้าน ที่นี้ เรามีทรัพยากรทั้งหมดสำหรับพวกเขาที่จะทำให้พวกเขาเป็นเจ้าของชีวิตที่แท้จริงของพวกเขาเอง!”

–> ผู้ใหญ่บ้านห้วยอีค่าง หน่อแอริ ทุ่งเมืองทอง เป็นสมาชิกคณะกรรมการเครือข่ายสตรีชนเผ่าแห่งประเทศไทย (IWNT) –> เรื่องราวภาพถ่ายนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดสื่อมัลติมีเดียที่นำเสนอผลงานและความเป็นจริงของชนเผ่าพื้นเมืองทั่วเอเชีย และแสดงให้เห็นแง่มุมต่างๆ ของการศึกษาด้านสิทธิ บทบาท และการมีส่วนร่วมของชนเผ่าพื้นเมืองในการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดในการลดก๊าซเรือนกระจก (NDCs): ประสบการณ์จากภูมิภาคเอเชียดำเนินการโดยมูลนิธิเพื่อการประสานความร่วมมือของชนเผ่าพื้นเมืองเอเชีย (AIPP) และองค์กรคนอยู่กับป่า (FPP) ในช่วงสองปีที่ผ่านมา –> รายงานได้รับการสนับสนุนโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP), โครงการ UN-REDD, ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของสถานเอกอัครราชทูตสวีเดนในกรุงเทพฯ และสำนักงานความร่วมมือพัฒนาระหว่างประเทศสวีเดน (SIDA) ผ่าน Swedbio ที่ Stockholm Resilience Center และพิจารณาถึงแนวทางที่ คำสัญญาของรัฐบาลภายใต้รอบแรกของการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดในการลดก๊าซเรือนกระจก(Nationally Determined Contributions – NDCs) จะได้กลายเป็นยุทธศาสตร์ นโยบาย กฎหมายจริง และขอบเขตของสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในที่ดิน ป่าไม้ น่านน้ำ และการจัดการอาณาเขตทั่วเอเชียที่มีในยุทธศาสตร์ นโยบาย กฎหมายนั้นๆ |
เชิงอรรถ
เรื่อง: ร็อกซานา อูฮาเกน & พิราวรรณ วงศ์นิธิสถาพร